05.06.2024
เจาะลึกการโอนรถยนต์ ! สรุปมีกี่แบบ ใช้เอกสารอะไรบ้าง ?
ขั้นตอนการซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ในยุคปัจจุบันการมีรถยนต์ส่วนตัว กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น การซื้อขาย เปลี่ยนมือรถยนต์ จึงเป็นเรื่องที่พบเห็นได้อยู่บ่อย ๆ แต่ในกระบวนการซื้อขายรถยนต์มือสองนั้น การโอนกรรมสิทธิ์เป็นขั้นตอนที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหาและความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง บทความนี้จึงจะพามาเจาะลึกถึงรายละเอียดของการโอนกรรมสิทธิ์รถ รวมถึงในขั้นตอนการโอนรถใช้เอกสารอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถจัดการกันได้อย่างราบรื่น ไร้ปัญหา
การโอนรถยนต์คืออะไร ใช้โอนในกรณีไหนบ้าง ?
การโอนรถยนต์ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของรถยนต์จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง โดยต้องดำเนินการตามขั้นตอนและเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนตามกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหาและความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยการโอนรถยนต์จะใช้ในกรณี ดังต่อไปนี้
- ซื้อขายรถยนต์ โดยกรณีที่พบบ่อยที่สุด คือการซื้อขายรถยนต์มือสอง ที่เมื่อมีการตกลงซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
- โอนให้บุคคลในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการโอนให้สามี ภรรยา บุตร
- เปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ การเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์เกิดขึ้นได้หลายกรณี เช่น การเปลี่ยนชื่อนามสกุล
- โอนรถข้ามจังหวัดทะเบียนเดิม ซึ่งเป็นการโอนรถไปยังจังหวัดอื่น โดยที่ยังต้องการใช้เลขทะเบียนเดิม
การโอนรถยนต์ว่ามีกี่แบบ ?
โอนตรง
การโอนตรง คือการโอนรถยนต์ที่ผู้ซื้อและผู้ขาย หรือเจ้าของคนเก่าและคนใหม่ต้องไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานขนส่งด้วยตนเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด เพราะจะสามารถตรวจสอบสภาพรถ เอกสาร และชำระค่าธรรมเนียมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ แต่อาจต้องเสียเวลาในการดำเนินการ
โอนลอย
การโอนลอย คือการโอนรถยนต์โดยที่ผู้ขายรถยนต์ หรือเจ้าของรถคนเดิมจะส่งมอบเอกสารโอนรถยนต์ไปให้ผู้ซื้อไปดำเนินการโอนต่อเอง ซึ่งเป็นวิธีที่มักใช้เมื่อมีคนกลางในการซื้อขาย เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว เพราะเจ้าของรถคันเดิมจะไม่ต้องเข้ามาดำเนินเรื่องโดยตรง แต่มีความเสี่ยงหากเจ้าของใหม่ยังไม่ได้ไปทำเรื่องการโอนรถยนต์จนเสร็จสมบูรณ์ แต่กลับนำรถยนต์ไปใช้แบบผิดกฎหมาย รวมถึงมีความเสี่ยงต่อผู้ซื้อใหม่หากเจ้าของรถคันเดิมส่งเอกสารที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วนมา ก็จะทำให้กระบวนการโอนรถยนต์เกิดปัญหาได้
โอนรถใช้เอกสารอะไรบ้าง ?
เอกสารโอนรถกรณีโอนตรง
เอกสารทั่วไป ใบคู่มือจดทะเบียนรถ หรือสมุดทะเบียนรถยนต์ฉบับจริง สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถยนต์คนเก่าและเจ้าของรถยนต์คนใหม่ สัญญาซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี (กรณีซื้อขาย) แบบคำขอโอนและรับโอนที่กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน มีลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอน เอกสารเพิ่มเติม ในกรณีโอนให้บุคคลในครอบครัว ต้องมีใบทะเบียนสมรส หรือใบสูติบัตร กรณีโอนให้ลูก ในกรณีเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต้องมีหนังสือรับรองการเปลี่ยนชื่อ ในกรณีโอนรถข้ามจังหวัดทะเบียนเดิม ต้องมีหนังสือรับรองการตรวจสภาพรถ
เอกสารโอนรถกรณีโอนลอย
การโอนลอยจะใช้เอกสารโอนรถยนต์เหมือนกับการโอนตรงทั้งหมด แต่จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจที่กรอกข้อมูลระบุรายละเอียดรถ เอกสาร ราคา วันที่โอน รวมถึงมีลายมือชื่อผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประชาชน อย่างครบถ้วน
ข้อควรระวังในการโอนรถยนต์
- ตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วน โดยตรวจดูว่าข้อมูลในเอกสารโอนรถยนต์ต้องชัดเจน สะกดถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดชื่อ นามสกุล เลขทะเบียนรถ และอย่าลืมเตรียมสำเนาของเอกสารให้ครบถ้วน
- ตรวจเช็กสภาพรถยนต์ โดยต้องตรวจสอบสภาพทั้งภายใน ภายนอก และสภาพเครื่องยนต์ให้ครบถ้วน ทั้งการทำงานและร่องรอยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงตรวจสอบสมุดทะเบียนรถ ว่ามีการบันทึกการตรวจสภาพรถเป็นประจำหรือไม่
- ตรวจดูลายเซ็น โดยตรวจสอบลายเซ็นในเอกสารทุกฉบับ ว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่
- เก็บเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยเก็บสำเนาเอกสารโอนรถยนต์ รวมถึงใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี และสัญญาซื้อขาย ไว้เป็นหลักฐาน ป้องกันการเกิดปัญหาในภายหลัง
อ่านมาถึงตรงนี้ คงเห็นภาพมากขึ้นในการเตรียมเอกสารโอนรถยนต์ที่จะช่วยให้การโอนสิทธิ์เกิดความราบรื่น แต่สำหรับใครที่มองหาทางเลือกซื้อขายรถมือสองอย่างมั่นใจโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการโอนรถยนต์ ต้องเลือก Autovilla ตลาดรถมือสองคุณภาพดี เราเป็นแหล่งรวมรถที่ผ่านการคัดเกรดทุกคัน มั่นใจด้วยใบตรวจสภาพจากสถาบันที่เชื่อถือได้ สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ 100%
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สาขาศรีนครินทร์ โทร. 097-921-9552
สาขาร่มเกล้า โทร. 095-906-0633
สาขาลำลูกกา โทร. 092-940-5098
ข้อมูลอ้างอิง:
- การโอนกรรมสิทธิ์รถ. สืบค้นวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 จาก https://bkk2.dlt.go.th/th/m_news_1387/5357?embed=true